“ผมปวดหัวไมเกรนเป็นประจำ เห็นในทีวีเขาบอกให้ไปฝังเข็มแล้วจะดีขึ้น ผมอยากลองทำบ้างช่วยแนะนำหน่อยครับ”
“ดิฉันว่าลองไปหาหมอจีนดูค่ะ ไปรักษาแผนปัจจุบันยังไม่ดีขึ้นเลย อยากหายจากโรคปวดหลัง ปวดไหล่เสียที เพิ่งไปครั้งแรกต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างค่ะ”
นี่คือคำบอกเล่าของผู้ป่วย ที่มาปรึกษา ปรับทุกข์ถึงปัญหาสุขภาพที่สถาบันพรหมวชิรญาณ คลินิกการแพทย์แผนไทย-จีน
การตรวจวินิจฉัยโรคทางการแพทย์แผนจีน
แพทย์จะรับรู้สภาพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคของผู้ป่วย ด้วยการตรวจวินิจฉัยโรคทางประสาทสัมผัสตามแบบฉบับของจีนที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกว่าพันปีแล้ว เป็นเอกลักษณ์และประโยชน์พิเศษในตัวเอง ซึ่งจะต้องอาศัยประสาทสัมผัสร่วมกันในการตรวจและรักษาโรคจึงจะวินิจฉัยได้อย่างมีระบบและถูกต้องแม่นยำโดยใช้หลักทฤษฎีสำคัญ 4 ประการมาประกอบกัน ดังนี้
1. การมองดู
เป็นวิธีการตรวจโรคโดยการสังเกตความผิดปกติหรือความเปลี่ยนแปลงภายนอกร่างกาย เพื่อประเมินสภาพของอวัยวะภายในที่สะท้อนออกมาให้เห็นถึงความผิดปกติ ทำให้เข้าใจถึงสภาวะของโรคได้ เช่น ความมีชีวิตชีวาของผู้ป่วย การดูสีหน้า ลักษณะรูปร่างท่าทาง การดูสิ่งขับถ่าย การดูลิ้นและการดูสารคัดหลั่งต่าง ๆ โดยทางแพทย์จีนจะให้ความสำคัญกับอวัยวะที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอวัยวะภายในมากที่สุด ได้แก่
การดูสีหน้า การเปลี่ยนแปลงของสีหน้าอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยของอวัยวะภายในแบ่งได้ 5 สี ดังนี้
สีหน้าเขียว-สะท้อนว่าตับมีปัญหา,
สีหน้าแดง-สะท้อนว่าหัวใจมีปัญหา,
สีหน้าเหลือง-สะท้อนว่าม้ามมีปัญหา,
สีหน้าดำ-สะท้อนว่าไตมีปัญหา,
สีหน้าขาว-สะท้อนว่าปอดมีปัญหา
นอกจากนี้แพทย์จีนยังสังเกตรูปร่างว่าแข็งแรง อ้วนหรือผอม และลักษณะร่างกายเฉพาะส่วน เช่น ดวงตาและเส้นผม โดยดวงตาจะต้องสดใสมีประกายและเส้นผมดกดำเงางาม
การดูลิ้น ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สามารถบอกถึงความผิดปกติของอวัยวะภายในได้อย่างแม่นยำ โดยแพทย์จะสังเกตสีของลิ้นเป็นอันดับแรก ซึ่งคนปกติลิ้นจะสีแดงหรือชมพูอ่อนและไม่มีฝ้าเกิดขึ้น เนื่องจากฝ้าบนลิ้นมีความเกี่ยวข้องกับระบบม้ามและกระเพาะอาหาร ต่อมาก็จะแบ่งส่วนของลิ้นตามอวัยวะภายใน ดังนี้ ส่วนปลาย-หัวใจและปอด, ส่วนกลาง-ม้ามและกระเพาะอาหาร, ส่วนขอบ-ตับและถุงน้ำดี, ส่วนโคน-ไต
2. การฟังเสียงและการดมกลิ่น (เหวิน)
เป็นการวินิจฉัยโรคโดยใช้ประสาทการฟังและประสาทการสูดดมกลิ่นของผู้ป่วยที่แสดงออกมาเพื่อวิเคราะห์หาความผิดปกติของอวัยวะภายในได้
การฟังเสียง อาศัยการฟังเสียงของผู้ป่วยที่เปล่งออกมาว่าเสียงมีพลังหรือเบาเหมือนไม่มีแรงพูด ซึ่งสังเกตได้จากเสียงต่างกัน ดังนี้ เสียงแหบ เสียงหายใจ เสียงไอ เสียงสะอึก เสียงอาเจียน และเสียงเรอ
การดมกลิ่น แบ่งเป็น 2 แบบ คือ การสูดดมกลิ่นจากผู้ป่วยและกลิ่นในห้องของผู้ป่วย ซึ่งกลิ่นจากตัวผู้ป่วยจะเป็นสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายจนทำให้อวัยวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเลือดลมและน้ำเมือกเกิดกลิ่นไม่ดีจนต้องขับออกจากร่างกายและสิ่งขับถ่ายของผู้ป่วย ส่วนกลิ่นในห้องผู้ป่วยคือกลิ่นที่ขับออกจากตัวผู้ป่วยเอง
3. การถาม
แพทย์จะสอบถามสภาวะของการเกิดโรคด้วยการพูดคุยกับตัวผู้ป่วยหรือผู้ที่รู้สภาพของผู้ป่วยเพื่อช่วยวินิจฉัยโรค รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน บรรยากาศของสภาพแวดล้อม การทำงาน อาหารการกินและสภาพครอบครัว ซึ่งการซักถามประวัติทางการแพทย์แผนจีนจะมีการจัดกลุ่มคำถามที่ควรถามผู้ป่วยหรือญาติไว้ 10 หัวข้อ ดังต่อไปนี้
ร้อนและเย็น เป็นอาการกลัวอากาศหนาว อาการร้อนสลับหนาว อาการร้อนเป็นเวลา (ไข้สูงเป็นพัก ๆ) หรืออาการร้อนจัด (ไข้สูง)
เหงื่อ ผู้ป่วยมีเหงื่อออกมากหรือน้อย เหงื่อออกเฉพาะที่
ศีรษะและลำตัว ลักษณะอาการปวดและตำแหน่งที่ปวด
การขับถ่าย ปกติหรือไม่ จำนวนครั้งต่อวัน ปริมาณ ลักษณะสีหรือมีเลือดปนออกมาด้วยหรือไม่
อาหารและรสชาติ ความอยากอาหาร ความสามารถในการทาน ความรู้สึกต่อรสชาติอาหาร
ทรวงอก ท้องและสีข้าง ต้องถามให้แน่ชัดถึงบริเวณที่ปวดและลักษณะของอาการปวดในสตรีควรซักถามประวัติการมีประจำเดือน
การได้ยินและการมองเห็น มีความชัดเจนดีหรือไม่
ความกระหายน้ำ ในแต่ละวันพฤติกรรมการดื่มน้ำเป็นอย่างไร
ประวัติเกี่ยวกับผู้ป่วย มีโรคประจำตัวอื่น ๆ หรือการนอนหลับปกติหรือไม่
สาเหตุของการเจ็บป่วย เช่น กระดูกหัก เนื่องจากสาเหตุใด
4. การตรวจจับชีพจรหรือการแมะ (เซี่ย)
แพทย์จะใช้การสัมผัสชีพจรเพื่อจับสังเกตความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งตำแหน่งของการตรวจชีพจรจะอยู่บริเวณข้อมือด้านในทั้งสองข้าง โดยแพทย์จะใช้นิ้วมือทั้ง 3 นิ้วเรียงติดกันเพื่อจับชีพจรคือ นิ้วชี้-จุดชุ่น, นิ้วกลาง-จุดกวน และนิ้วนาง-จุดฉื่อ โดยทั้ง 3 ตำแหน่งของข้อมือในแต่ละข้าง สามารถบ่งชี้การทำงานของอวัยวะภายในร่างกายได้ดังนี้
ตำแหน่ง |
ข้อมือซ้าย |
ข้อมือขวา |
นิ้วชี้-จุดชุ่น |
หัวใจและลำไส้เล็ก |
ปอดและลำไส้ใหญ่ |
นิ้วกลาง-จุดกวน |
ตับและถุงน้ำดี |
ม้ามและกระเพาะอาหาร |
นิ้วนาง-จุดฉื่อ |
ไตหยิน |
ไตหยาง |
การรักษาโรคทางการแพทย์แผนจีน
เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างละเอียดแล้ว การรักษาก็จะใช้ดุลยพินิจวิเคราะห์ว่าจะรักษาด้วยวิธีการใด ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับชนิดอาการของโรคเป็นสำคัญ รวมทั้งความชำนาญในแต่ละด้านของแพทย์ผู้นั้นด้วย โดยทางการแพทย์แผนจีนจะมีวิธีการรักษาโรคอยู่ 2 วิธี
การรักษาจากภายใน
หมายถึง ใช้ตำรับยาสมุนไพรจีน เนื่องจากประเทศจีนนั้นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีภูมิประเทศสลับซับซ้อนและมีหลายฤดูกาล ทำให้จีนมีระบบนิเวศที่แตกต่างกันหลายแบบ ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับการเติบโตของยาสมุนไพรที่มีมากมายหลายชนิด ปัจจุบันสมุนไพรจีนมีกว่า 8,000 ชนิด และมี 600 กว่าชนิดเป็นยาที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
สรรพคุณของยาจีน ที่สำคัญมีลมปราณ (ชี่) 4 ได้แก่ หนาว ร้อน อุ่น เย็น และกลิ่น 5 ได้แก่ เปรี้ยว ขม หวาน เผ็ด เค็ม การใช้ยาจีนอย่างได้ผลและปลอดภัย ต้องเข้าใจความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการผสมยา ข้อต้องห้ามปริมาณที่ใช้ และวิธีทาน
การผสมยาจีน คือ การเลือกใช้ยาหลายชนิดผสมเข้าด้วยกันตามสภาวะโรคและสรรพคุณของยาที่แตกต่างกัน ซึ่งยาจีนนั้นจะได้มาจากส่วนของพืช สัตว์ และแร่ธาตุ
ข้อต้องห้ามในการใช้ยา เช่น ในสตรีช่วงตั้งครรภ์ ข้อห้ามเกี่ยวกับอาการโรค ปริมาณของยาสำหรับผู้ใหญ่และเด็กในการทานต่อวัน
แนวทางการรักษาจากภายนอก
การฝังเข็ม
การฝังเข็ม คือ การแทงเข็มลงไปบนจุดฝังเข็มตามร่างกาย โดยใช้หลักการรักษาตามเส้นลมปราณ เพื่อเป็นการปรับปรุงดุลยภาพร่างกาย เนื่องจากภายในร่างกายของคนเราจะมีเลือดและลมปราณไหลหมุนเวียนอยู่ทั่วไปเป็นพลังงานผลักดันให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานสอดคล้องกันได้เป็นอย่างดีและเมื่อการไหลเวียนของเลือดลมปราณติดขัด ร่างกายก็จะเกิดการเสียสมดุลกับธรรมชาติ จนทำให้อาการของโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้น
การฝังเข็มมีฤทธิ์ในการรักษาโรค 3 ประการ
- ช่วยแก้ไขระบบการไหลเวียนของเลือดลมปราณที่ติดขัดให้ดีขึ้น
- ปรับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุล
- กระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกไปจากร่างกาย
การแช่ตัวหรืออาบด้วยสมุนไพร โดยการนำสมุนไพรจีนไปแช่ ต้ม หรือบ่มในน้ำ หลังจากที่บ่มได้
ตามระยะเวลาที่ต้องการแล้ว จึงให้ผู้ป่วยลงไปแช่หรืออาบน้ำสมุนไพรนั้น ๆ แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากสมุนไพรบางชนิดหากแช่นานเกินไป อาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
การกดจุดหรือนวดแผนจีน เป็นการรักษาโดยใช้หลักการวิเคราะห์ของแพทย์ สามารถทำได้ง่ายและสะดวกต่อการรักษา เพราะว่าไม่ต้องทานยา มีผลข้างเคียงน้อย และได้รับผลการรักษาที่ค่อนข้างดี สรรพคุณของการนวดหรือกดจุด ได้แก่
- ปรับและเสริมกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ไขข้อ ที่บาดเจ็บให้แข็งแรงขึ้น
- ช่วยให้สมรรถนะของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายกลับคืนสู่สภาวะสมดุล
- ช่วยประสานการทำงานของระบบหมุนเวียนโลหิตในร่างกายให้ดีขึ้น
การรมยา
การรมยา เป็นการรักษาโรคโดยใช้ไฟจุดตามแนวเส้นต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อให้ความร้อนแทรกซึม
ผ่านบริเวณผิวหนัง ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะได้ผลดีกว่าการฝังเข็ม เพราะไม่ได้กระตุ้นเป็นจุด ๆ อีกทั้งความร้อนยังช่วยให้ยาต่าง ๆ ซึมซับและไหลเวียนเข้าสู่ร่างกายได้ดี แต่ก่อนที่จะเริ่มการรักษาต้องมีการตรวจวินิจฉัยโรคจากแพทย์ผู้ทำการรักษาให้ดีเสียก่อน เพราะวิธีนี้ไม่สามารถใช้รักษาได้ทุกโรคและทุกคน เช่น ผู้ป่วยโรคผิวหนังชนิดรุนแรง โรคเบาหวาน ควมดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ซึ่งจำเป็นต้องตรวจให้แน่ชัดก่อน
ข้อแนะนำก่อนมาพบแพทย์แผนจีน
1. ห้ามอมลูกอมทุกชนิดก่อนมาพบแพทย์ เนื่องจากแพทย์จีนจะต้องทำการดูลิ้น อาจทำให้การวินิจฉัยโรคคลาดเคลื่อน
2. ควรทานอาหารก่อนมาฝังเข็ม อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพราะการฝังเข็มอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเส้นเลือดต่ำลง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเป็นลมและไม่มีแรงได้
หลักสุขภาพดีทางการแพทย์แผนจีน
สังเกตได้ว่าคนจีนนั้นมักมีสุขภาพที่แข็งแรง และมีอายุยืนยาว เนื่องจากตั้งแต่โบราณคนจีนนั้นได้ยึดหลักปฏิบัติตนเองเพื่อสุขภาพดี ดังนี้:-
1. เข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ และตื่นแต่เช้า ทำให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้อย่างสมบูรณ์
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมักขยันขันแข็งไม่อยู่นิ่ง
3. เลือกทานอาหารตามฤดูกาล เพื่อปรับสมดุลเข้าสู่ธรรมชาติ
4. หมั่นสังเกตความผิดปกติของตนเอง และรับทานยาสมุนไพรเมื่อเริ่มมีอาการ