โครงการสร้างสถาบันวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย
โครงการสร้างสถาบันวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย
“เฉลิมพระเกียรติมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา”
(โครงการส่วนที่ ๓)
๑. ประวัติความเป็นมา
ในอดีตสมุนไพรเป็นเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการรักษาความเจ็บป่วย ดังนั้น รากฐานของการใช้สมุนไพรในสังคมไทยก็อาจพิจารณาได้จากวิวัฒนาการของการดูแลรักษาอาการป่วยไข้ หรือเรื่องราวทางการแพทย์ในสังคมไทย ที่มีมานับตั้งแต่อดีตในยุคสุโขทัย ก็ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการใช้สมุนไพร ในการรักษาอาการป่วยในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่จารึกไว้ว่า......พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสร้างสวนสมุนไพรขนาดใหญ่ไว้บนเขาหลวงหรือเขาสรรพต (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย) เพื่อให้ประชาชนได้เก็บสมุนไพรไปใช้ในยามเจ็บป่วย.....
ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีหลักฐานว่าไทยเคยมีโรงพยาบาลสร้างขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๒๑๒ มีการเขียนตำราพระโอสถพระนารายณ์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำราต้นแบบสืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงรวบรวมและจารึกตำรายาและรูปปั้นฤาษีดัดตนไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงรวบรวมตำรายาจากที่ต่างๆ เป็นเล่มเดียวกันแล้วตั้งชื่อว่า ตำรายาโรงพระโอสถ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯให้จารึกตำรายาไว้บนแผ่นหินอ่อนประดับไว้ตามผนังโบสถ์และศาลารายในวัดพระชุพนฯ รัชกาลที่ ๔ เป็นยุคแรกที่นำความรู้แพทย์สมัยใหม่เข้ามาใช้ในราชสำนัก แต่ประชาชนยังคงรักษาแบบพื้นบ้านอยู่ รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งให้มีการรักษาทั้งแบบแผนไทยและแบบตะวันตก จัดพิมพ์ตำราเรียกว่า “ตำราแพทยศาสตร์สังเคราะห์” ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ได้มีการยกเลิกการศึกษาตามแบบแพทย์แผนไทย รัชกาลที่ ๖ ได้ตราพระราชบัญญัติการแพทย์ขึ้นเป็นครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๖ ทำให้เกิดการแบ่งประเภทของยาในการขอขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ
ในปัจจุบันนี้ กิจการด้านสมุนไพรกำลังได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย จากการศึกษาข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ๒๕๔๑ พบว่า ประชาชนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่รู้จักสมุนไพรและยาไทย ร้อยละ ๕๗.๗ เคยพึ่งยาสมุนไพรร้อยละ ๓๑.๖ และใช้สมุนไพรรักษาอาการป่วยเบื้องต้นเป็นประจำร้อยละ ๘๓.๗ นั่นแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันประชาชนหันมาสนใจสมุนไพรกันมากขึ้น นอกจากนี้ จากตัวเลขของกรมเศรษฐกิจพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีการนำเข้าสมุนไพร คิดเป็นมูลค่า ๓๑๖,๘๘๒,๘๗๘ บาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.๒๕๓๕ คิดเป็นร้อยละ ๕๔.๑๗ สมุนไพรและเครื่องเทศที่นำเข้าส่วนใหญ่ ได้แก่ พริกแห้ง เมล็ดทานตะวัน เมล็ดผักชี และชะเอม ส่วนการส่งออกสมุนไพรและเครื่องเทศ ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีมูลค่าการส่งออกถึง ๒.๓๕ เท่า จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แต่ประชาชนในประเทศที่สนใจใช้สมุนไพร แต่ปัจจุบันประชาชนชาวโลกได้หันมาสนใจผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรกันมากขึ้น
ข้อเท็จจริงในทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องยอมรับ คือการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุดทุกวันนี้ประเทศไทยต้องนำเข้าเทคโนโลยีการแพทย์และยาแผนปัจจุบันจากตะวันตกมีมูลค่าสูงถึง ๑.๗ หมื่นล้านบาท (ตัวเลขประมาณการของปี พ.ศ.๒๕๔๔-๒๕๔๕) อันเป็นผลมาจากนิสัยรักความสะดวกสบายของคนไทยทั้งที่ในบรรดา โรคภัยไข้เจ็บนั้นมีเพียงร้อยละ ๓๐ ที่เป็นโรคซับซ้อน ซึ่งต้องพึ่งเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูง ส่วนอีกร้อยละ ๗๐ ของการ เจ็บป่วยปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาแผนปัจจุบันเพียงแต่แพทย์เป็นผู้ประคับประคองให้คนไข้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับตัวต่อต้านโรคให้หายได้เท่านั้น
จากประเด็นที่สำคัญดังกล่าว มูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของบทบาทของการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรที่จะเข้ามาแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชน ได้แก่ การประยุกต์สู่การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาโรค และอาการง่ายๆ ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพและการดูแลพระภิกษุ สามเณร และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นแนวทางสอดคล้องกับการปฏิรูประบบสุขภาพในปัจจุบัน
ดังนั้น มูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ จึงได้ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี และโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ จัดทำโครงการสร้างสถาบันวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย “เฉลิมพระเกียรติมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา” ขึ้น ณ ที่สาธารณหมู่บ้านกระโสบ ตำบลกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี บนพื้นที่ ๓๒๐ ไร่ เพื่อดำเนินการจัดทำโครงการวิจัยขึ้น เพื่อศึกษาและพัฒนายารักษาโรคจากสมุนไพรไทยที่มีประวัติรักษาโรค โดยสมุนไพรดังกล่าวเกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ซึ่งรู้จักกันดีและนิยมใช้รักษาโรคกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งหาได้ง่ายและราคาถูก แต่ยังขาดข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า สมุนไพรเหล่านี้ มีผลในการรักษาโรคได้จริงหรือไม่ และมีความปลอดภัยเพียงใด ซึ่งข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวคงต้องดำเนินการศึกษาวิจัย และนำมาพัฒนาแปรรูปเป็นยา เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยต่อไป
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ มีพระชนมายุครบ ๘๒ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ มีพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ (๗ รอบ) และมีพระชนมายุครบ ๘๕ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นปีที่ สมเด็จพระบรมโอรสา ธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕
๒.๒ เพื่อเป็นแหล่งต้นแบบตัวอย่างด้านการเกษตรพอเพียง ตามรอยเบื้องยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
๒.๓ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ไม้สมุนไพรที่หายาก สมุนไพรที่มีประวัติรักษาโรค สมุนไพรที่ใช้ในทาง สาธารณสุขมูลฐาน และสมุนไพรที่ประชาชนนิยมใช้
๒.๔ เป็นสถานที่สำหรับปลูกเพาะพันธุ์กล้าไม้สมุนไพรไทย และเป็นที่สาธิตการทดลองใช้สมุนไพรพื้นบ้าน เพื่อใช้ในโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยเพื่อบำบัดโรค
๒.๕ เป็นแหล่งทัศนศึกษาและเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับประโยชน์และโทษที่ควรระวังของสมุนไพรไทยตลอดจนการใช้สมุนไพรไทยให้ถูกต้องและปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและประชาชน
๓. พื้นที่ดำเนินการ
ที่สาธารณหมู่บ้านกระโสบ หมู่ที่ ๔ ตำบลกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี บนพื้นที่ ๓๒๐ ไร่ เพื่อเป็นแหล่งศูนย์รวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ไม้สมุนไพรที่หายากสมุนไพรที่มีประวัติรักษาโรค สมุนไพรที่ใช้ในทางสาธารณสุขมูลฐาน
๔. เป้าหมายของการดำเนินการ
โครงการนี้ เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา การดำเนินงานแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ คือ
ระยะที่ ๑ ดำเนินการปลูกและทำแปลงสมุนไพร เพื่อใช้ในโครงการศึกษาและวิจัยในโครงการสวนสมุนไพรบนพื้นที่จำนวน ๓๒๐ ไร่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
ระยะที่ ๒ จัดสร้างอาคารวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย อาคารสนับสนุนการวิจัยต่างๆ เพื่อใช้ในการแปรรูปสมุนไพรไทยที่ใช้เป็นยาในการบำบัดรักษาโรค เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๘๒ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒
ระยะที่ ๓ จัดสร้างพิพิธภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ และดำเนินการจัดทำพื้นที่ด้านการเกษตรพอเพียงตามรอยเบื้อง พระยุคลบาท เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๔ (๗ รอบ)
โครงการ ระยะที่ ๑-๓ จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทุกประการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช ที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๘๕ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๕ และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕
๕. หน่วยงานที่ดำเนินการและรับผิดชอบ
๕.๑ มูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ
๕.๒ โรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ
๕.๓ จังหวัดอุบลราชธานี
๖. หน่วยงานที่ปรึกษาโครงการ
๖.๑ กระทรวงสาธารณสุข
๖.๒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
๖.๓ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๗. การดำเนินงาน
บนพื้นที่ ๓๒๐ ไร่ ณ ที่สาธารณหมู่บ้านตำบลกระโสบ หมู่ ๔ ตำบลกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
จะดำเนินการดังนี้ :-
๗.๑ พื้นที่ ๒๐ ไร่ ดำเนินการจัดสร้างอาคารสิ่งก่อสร้างดังนี้ :-
๗.๑.๑ อาคารพิพิธภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ (๒ ชั้น) ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
๗.๑.๒ อาคารวิจัยสมุนไพร (๓ ชั้น) ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ประกอบด้วย
- วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพและเวชศาสตร์
- ผลิตและแปรรูปสมุนไพร ระดับอุตสาหกรรม
๗.๑.๓ อาคารพัฒนาแพทย์แผนไทย (๒ ชั้น) ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท
๗.๑.๔ อาคารพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพร (๒ ชั้น) ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท
๗.๑.๕ อาคารแสดง/จำหน่ายยาไทยและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (๒ ชั้น) ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ประกอบด้วย
- แสดงและจำหน่ายสินค้า
- เก็บสต็อกสินค้าสำเร็จรูป
๗.๑.๖ อาคารพักเจ้าหน้าที่ (๒ หลัง) ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท
๗.๒ พื้นที่ ๒๗๕ ไร่ ดำเนินการปลูกและทำแปลง เพื่อใช้ในโครงการศึกษาและวิจัยในโครงการสวนสมุนไพร ซึ่งจะจัดตามหมวดหมู่ของการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรและรวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรที่หายากและสมุนไพรที่ประชาชนนิยมใช้ (โครงการระยะที่ ๑) จะดำเนินการดังนี้ :-
๗.๒.๑ กลุ่มไม้หอมและไม้ไทย ได้แก่ กฤษณา บุนนาค พะยอม ลำดวน จำปี จำปา ฯลฯ
๗.๒.๒ กลุ่มยาบำรุงหัวใจ ได้แก่ พิกุล จันกะพ้อ สารภี กระดังงา การะเวก ฯลฯ
๗.๒.๓ กลุ่มยาสมุนไพรที่มีประวัติรักษาโรคมะเร็ง เช่น พญาสัตตบรรณ ชิงชี่ ข่อย ตะโกราชดัด
แพงพวยฝรั่ง ทองพันชั่ง ขันทองพยาบาล เหงือกปลาหมอ ดองดึง พระจันทร์ครึ่งซีก คงคาเดือด ฯลฯ
๗.๒.๔ กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน ได้แก่ ชุมเห็ดเทศ หมาก พลู ฯลฯ
๗.๒.๕ กลุ่มยาขมเจริญอาหาร แก้ไข้ ขับปัสสาวะ ได้แก่ จำปา จันทร์เทศ สมอไทย สมอพิเภก
หญ้าหนวดแมว ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด ฯลฯ
๗.๒.๖ กลุ่มยาถ่าย ยาระบาย แก้บิด ขับพยาธิ ได้แก่ มะเกลือ มะขาม สมอพิเภก สมอไทย
มะหาด มะขามแขก ฯลฯ
๗.๒.๗ กลุ่มยาขับลม ได้แก่ การบูร กานพลู ดีปลี พริกไทย แมงลัก ฯลฯ
๗.๒.๘ กลุ่มยาขับโลหิตระดูสตรี บำรุงโลหิต ได้แก่ กรับ แก่นขนุนละมุด กระบือเจ็ดตัว แก้ว กำลังช้างเผือกหรือกำลังช้างสาร กำลังวัวเถลิง (กำลังทรพี) ขี้เหล็กเลือด คำไทย คำฝอย ประดู่ลาย เป้าใหญ่ เป้าน้อย ฝ้ายขาว ส้มเสี้ยว แสมทะเล แสมสาร สมอดีงู หางนกยูง กำแพงเจ็ดชั้น ขมิ้นเครือ คัดเค้า ไพล รำพันแดง รำพันขาว สิงหโมรา ผักเป็ดแดง ผักเป็ดขาว ผักปรัง ผักหวานบ้าน ผักหวานป่า ผักเสี้ยนไทย ขอดชะนางขาว ขอดชะนางแดง หญ้าไทร
๗.๓ พื้นที่ ๒๕ ไร่ ดำเนินการจัดทำพื้นที่ด้านการเกษตรพอเพียงตามรอยเบื้องพระยุคลบาท เพื่อโครงการส่วนที่ ๓ (สถาบันวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย “เฉลิมพระเกียรติมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา”) สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างครบวงจร ดังนี้ :-
๗.๓.๑ พื้นที่ ๑๕ ไร่ ดำเนินการจัดทำแปลงปลูกข้าว
๗.๓.๒ พื้นที่ ๕ ไร่ ดำเนินการจัดทำพืชไร่-พืชสวน และพืชส่วนผสม
๗.๓.๓ พื้นที่ ๕ ไร่ ดำเนินการเลี้ยงสัตว์
๘. งานที่จะดำเนินการต่อไป
เป็นการดำเนินการจัดสร้างสิ่งก่อสร้างภูมิสถาปัตย์สวนสมุนไพรบนพื้นที่ ๓๒๐ ไร่ ใช้งบประมาณดำเนินการ ๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (แปดสิบล้านบาทถ้วน) และจัดสร้างอาคารต่าง ๆ เช่น อาคารพิพิธภัณฑ์สมุนไพร และอาคารวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี อาคารผลิตและแปรรูปสมุนไพร และอาคารอื่น ๆ โดยใช้งบประมาณในการดำเนินงานประมาณ ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐บาท (หนึ่งร้อยล้านบาทถ้วน) เพื่อใช้สำหรับเป็นสถานที่พัฒนารูปแบบเภสัชภัณฑ์จากสมุนไพร และโครงการวิจัยพัฒนาสมุนไพร เพื่อบำบัดรักษาโรค (โครงการระยะที่ ๒)
ทั้งนี้ เนื่องจากโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ โดยมูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ จะดำเนินการจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนายารักษาโรคจากสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นโครงการวิจัยหลักโครงการหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะนำเอาสมุนไพรไทยที่มีประวัติศาสตร์ในการรักษาโรคตามตำรายาแพทย์แผนไทย ตามคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา และสมุนไพรที่ชาวบ้านนิยมใช้รักษาโรค มาทำการศึกษาวิเคราะห์หาสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ ตลอดจนพิษของสมุนไพรที่ควรระวังตามขบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างครบวงจร เพื่อพิสูจน์ว่าสมุนไพรไทยดังกล่าวนั้น มีศักยภาพในการรักษาโรคได้จริงหรือไม่ และมีความปลอดภัยในการใช้ต่อประชาชนเพียงใด ถ้าสมุนไพรดังกล่าวมีศักยภาพเพียงพอต่อการรักษาโรคได้จริง ก็จะนำมาพัฒนาเป็นยารักษาในผู้ป่วยต่อไป
โครงการระยะที่ ๓ จะเป็นโครงการที่สำคัญ ในการวิจัยสมุนไพรเพื่อพัฒนาเป็นยารักษาโรคในอนาคต ทั้งนี้ เพราะจะเป็นโครงการที่รองรับการผลิตวัตถุดิบทางยาของสมุนไพรไทยที่ใช้ในการวิจัยที่ได้รับการควบคุมมาตรฐาน ป้อนเข้าสู่ห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปใช้ในโครงการวิจัย และโครงการระยะที่ ๓ นี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าการวิจัยสมุนไพรนี้มีความสามารถก้าวหน้าไปถึงระดับของการพัฒนาเป็นยารักษาโรคในผู้ป่วยได้
โครงการระยะที่ ๓ นี้ จะเริ่มดำเนินการเมื่อโครงการระยะที่ ๑ และ ๒ เสร็จเรียบร้อยแล้ว
รวมงบประมาณในการดำเนินงานโครงการส่วนที่ ๓ จำนวน ๑๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
(หนึ่งร้อยแปดสิบล้านบาทถ้วน)
๙. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
๙.๑ เป็นแหล่งตัวอย่างด้านการเกษตรพอเพียงตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถพึ่งตนเองได้
๙.๒ เป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์สมุนไพรไทย สมุนไพรไทยที่หายาก และสมุนไพรไทยที่มีประวัติรักษา ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งของประเทศไว้ เพื่อเป็นมาตรฐานในการศึกษาวิจัย
๙.๓ เป็นแหล่งวัตถุดิบทางยาสำหรับไว้ใช้ในการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย ซึ่งจะได้สมุนไพรไทยที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีปริมาณที่เพียงพอต่อการวิจัย
๙.๔ เป็นแหล่งเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ทั้งในด้านประโยชน์และโทษที่ควรระวังของสมุนไพร ตลอดจนให้คำแนะนำการใช้สมุนไพรให้ถูกต้อง และปลอดภัยแก่ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป
๙.๕ ช่วยในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และช่วยรักษาสมดุลให้กับธรรมชาติ
.....................................................