โครงการสร้างสถาบันวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย
“เฉลิมพระเกียรติมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา”
(โครงการส่วนที่ ๓)
 
 
 
 
 
 
๑.  ประวัติความเป็นมา
       ในอดีตสมุนไพรเป็นเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการรักษาความเจ็บป่วย ดังนั้น รากฐานของการใช้สมุนไพรในสังคมไทยก็อาจพิจารณาได้จากวิวัฒนาการของการดูแลรักษาอาการป่วยไข้ หรือเรื่องราวทางการแพทย์ในสังคมไทย ที่มีมานับตั้งแต่อดีตในยุคสุโขทัย ก็ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการใช้สมุนไพร ในการรักษาอาการป่วยในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่จารึกไว้ว่า............พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสร้างสวนสมุนไพรขนาดใหญ่ไว้บนเขาหลวงหรือเขาสรรพต (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย) เพื่อให้ประชาชนได้เก็บสมุนไพรไปใช้ในยามเจ็บป่วย.....
        ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีหลักฐานว่าไทยเคยมีโรงพยาบาลสร้างขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๒๑๒ มีการเขียนตำราพระโอสถพระนารายณ์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำราต้นแบบสืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงรวบรวมและจารึกตำรายาและรูปปั้นฤาษีดัดตนไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงรวบรวมตำรายาจากที่ต่างๆ เป็นเล่มเดียวกันแล้วตั้งชื่อว่า ตำรายาโรงพระโอสถ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกตำรายาไว้บนแผ่นหินอ่อนประดับไว้ตามผนังโบสถ์และศาลารายในวัดพระเชตุพนฯ รัชกาลที่ ๔ เป็นยุคแรกที่นำความรู้แพทย์สมัยใหม่เข้ามาใช้ในราชสำนัก แต่ประชาชนยังคงรักษาแบบพื้นบ้านอยู่ รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งให้มีการรักษาทั้งแบบแผนไทยและแบบตะวันตก จัดพิมพ์ตำราเรียกว่า “ตำราแพทยศาสตร์สังเคราะห์” ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ได้มีการยกเลิกการศึกษาตามแบบแพทย์แผนไทย รัชกาลที่ ๖ ได้ตราพระราชบัญญัติการแพทย์ขึ้นเป็นครั้งแรก พ.ศ.๒๔๖๖ ทำให้เกิดการแบ่งประเภทของยาในการขอขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ
ในปัจจุบันนี้ กิจการด้านสมุนไพรกำลังได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย จากการศึกษาข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ๒๕๔๑ พบว่า ประชาชนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่รู้จักสมุนไพรและยาไทย ร้อยละ ๕๗.๗ เคยพึ่งยาสมุนไพร ร้อยละ ๓๑.๖ และใช้สมุนไพรรักษาอาการป่วยเบื้องต้นเป็นประจำร้อยละ ๘๓.๗ นั่นแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันประชาชนหันมาสนใจสมุนไพรกันมากขึ้น นอกจากนี้ จากตัวเลขของกรมเศรษฐกิจพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีการนำเข้าสมุนไพร คิดเป็นมูลค่า ๓๑๖,๘๘๒,๘๗๘ บาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.๒๕๓๕ คิดเป็นร้อยละ ๕๔.๑๗ สมุนไพรและเครื่องเทศที่นำเข้าส่วนใหญ่ ได้แก่ พริกแห้ง เมล็ดทานตะวัน เมล็ดผักชี และชะเอม ส่วนการส่งออกสมุนไพรและเครื่องเทศ ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีมูลค่าการส่งออกถึง ๒.๓๕ เท่า จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แต่ประชาชนในประเทศที่สนใจใช้สมุนไพร แต่ปัจจุบันประชาชนชาวโลกได้หันมาสนใจผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรกันมากขึ้น
ข้อเท็จจริงในทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องยอมรับ คือการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุด ทุกวันนี้ประเทศไทยต้องนำเข้าเทคโนโลยีการแพทย์และยาแผนปัจจุบันจากตะวันตกมีมูลค่าสูงถึง ๑.๗ หมื่นล้านบาท (ตัวเลขประมาณการของปี พ.ศ.๒๕๔๔-๒๕๔๕) อันเป็นผลมาจากนิสัยรักความสะดวกสบายของคนไทยทั้งที่ในบรรดา โรคภัยไข้เจ็บนั้นมีเพียงร้อยละ ๓๐ ที่เป็นโรคซับซ้อน ซึ่งต้องพึ่งเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูง ส่วนอีกร้อยละ ๗๐ ของการเจ็บป่วยปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาแผนปัจจุบันเพียงแต่แพทย์เป็นผู้ประคับประคองให้คนไข้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับตัวต่อต้านโรคให้หายได้เท่านั้น
        จากประเด็นที่สำคัญดังกล่าว มูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของบทบาทของการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรที่จะเข้ามาแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชน ได้แก่ การประยุกต์สู่การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาโรค และอาการง่ายๆ ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพและการดูแลพระภิกษุ สามเณร และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นแนวทางสอดคล้องกับการปฏิรูประบบสุขภาพในปัจจุบัน ดังนั้น มูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ โดยพระราชานุญาต สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดอุบลราชธานี และสมาคมวิชาชีพแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก จัดทำโครงการสร้างสถาบันวิจัยและพัฒนาสมุนไพร “เฉลิมพระเกียรติมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา” ขึ้น ณ ที่ดินราชพัสดุ เลขที่ อบ.๒๘๗๔ ตำบลกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี บนพื้นที่ ๓๐๘ ไร่ ๓ งาน ๒๕ ตารางวา เพื่อดำเนินการจัดทำโครงการวิจัยขึ้น เพื่อศึกษาและพัฒนายารักษาโรคจากสมุนไพรที่มีประวัติรักษาโรค โดยสมุนไพรดังกล่าวเกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ซึ่งรู้จักกันดีและนิยมใช้รักษาโรคกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งหาได้ง่ายและราคาถูก แต่ยังขาดข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า สมุนไพรเหล่านี้ มีผลในการรักษาโรคได้จริงหรือไม่ และมีความปลอดภัยเพียงใด ซึ่งข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวคงต้องดำเนินการศึกษาวิจัย และนำมาพัฒนาแปรรูปเป็นยา เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยต่อไป
 
๒. วัตถุประสงค์
      ๒.๑ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
      ๒.๒ เพื่อเป็นแหล่งต้นแบบตัวอย่างด้านการเกษตรพอเพียง ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จ
พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
      ๒.๓ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ไม้สมุนไพรที่หายาก สมุนไพรที่มีประวัติรักษาโรค สมุนไพรที่ใช้ใน
ทางสาธารณสุขมูลฐาน และสมุนไพรที่ประชาชนนิยมใช้
      ๒.๔ เป็นสถานที่สำหรับปลูกเพาะพันธุ์กล้าไม้สมุนไพร และเป็นที่สาธิตการทดลองใช้สมุนไพรพื้นบ้าน เพื่อใช้ในโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสมุนไพร
      ๒.๕ เป็นแหล่งศึกษาวิจัยและพัฒนาแปรรูปสมุนไพรให้เป็นยา เพื่อใช้ในการบำบัดและรักษาผู้ป่วย
      ๒.๖ เป็นแหล่งทัศนศึกษาและเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับประโยชน์และโทษที่ควรระวังของ
สมุนไพรตลอดจนการใช้สมุนไพรให้ถูกต้องและปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและประชาชน
 
๓. พื้นที่ดำเนินการ
      ๓.๑ ที่ดินราชพัสดุ เลขที่ อบ.๒๘๗๔ ตำบลกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี บนพื้นที่ ๓๐๘ ไร่ ๓ งาน ๒๕ ตารางวา สำหรับหน่วยงานสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขสงวนไว้เพื่อจัดสร้างโครงการสร้างสถาบันวิจัยและพัฒนาสมุนไพร “เฉลิมพระเกียรติมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา” เพื่อเป็นแหล่งศูนย์รวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ไม้สมุนไพรที่หายาก สมุนไพรที่มีประวัติรักษาโรค สมุนไพรที่ใช้ในทางสาธารณสุขมูลฐาน
 
๔. เป้าหมายของการดำเนินการ
      ๔.๑ มูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ โดยพระราชานุญาตฯ, โรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ
      ๔.๒ กระทรวงสาธารณสุข
      ๔.๓ กระทรวงกลาโหม
      ๔.๔ กระทรวงมหาดไทย
      ๔.๕ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
      ๔.๖ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      ๔.๗ จังหวัดอุบลราชธานี
      ๔.๘ สมาคมวิชาชีพแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก
 
๕. หน่วยงานที่ดำเนินการและรับผิดชอบ
      ๕.๑ กระทรวงกลาโหม
      ๕.๒ กระทรวงมหาดไทย
      ๕.๓ กระทรวงสาธารณสุข
      ๕.๔ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
      ๕.๕ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      ๕.๖ กระทรวงวัฒนธรรม
      ๕.๗ สำนักนายกรัฐมนตรี
      ๕.๘ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
      ๕.๙ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
      ๕.๑๐ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี
 
๖. หน่วยงานที่ปรึกษาโครงการ
      - เงินบริจาคของมูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ
      - ขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน

๗. การดำเนินงาน

      บนพื้นที่ ๓๐๘ ไร่ ๓ งาน ๒๕ ตารางวา ณ ที่ดินราชพัสดุ เลขที่ อบ. ๒๘๗๔ ตำบลกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการ แบ่งแผนการดำเนินงาน ออกเป็น ๕ ระยะ (โครงการ ๑-๕ ปี)

    โครงการระยะที่ ๑ ปรับพื้นที่ ปลูกต้นไม้ และผลิตสมุนไพร และระบบสาธารณูปโภคบางส่วนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและสวนป่า ประกอบด้วย:- พื้นที่เกษตรกรรม และสวนป่า พื้นที่ปลูกพืชสมุนไพรเพื่อการผลิตวัตถุดิบและการวิจัย สำหรับการทดลองคุณภาพของสารสำคัญในพืชสมุนไพร ได้แก่ แปลงปลูกพืชสวนสมุนไพร เรือนเพาะชำ พื้นที่ขยายพันธุ์พืช อาคารเก็บวัสดุอุปกรณ์การเกษตร ที่จอดรถ บ้านพักเจ้าหน้าที่/คนงาน สระน้ำ สำหรับน้ำใช้ในการเพาะปลูก เป็นต้น

    โครงการระยะที่ ๒ สร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา และการแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งประกอบด้วย การจัดสร้างอาคารสิ่งก่อสร้าง ดังนี้
    - อาคารพิพิธภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ (๑ ชั้น) พื้นที่ใช้สอย ๑๘๙๖ ตารางเมตร ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๔๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท
    - อาคารวิจัยและพัฒนาสมุนไพร (๑ ชั้น) พื้นที่ใช้สอย ๑๒๐๐ ตารางเมตร ประกอบด้วย แสดง/จำหน่ายสินค้า
และเก็บสต็อกสินค้าสำเร็จรูป ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
    - อาคารพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพร (๑ ชั้น) พื้นที่ใช้สอย ๖๘๗ ตารางเมตร ประกอบด้วย วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ/เวชศาสตร์ และผลิต/แปรรูปสมุนไพร ระดับอุตสาหกรรม ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๑๕,๒๕๕,๐๐๐ บาท
    - อาคารเตรียมวัตถุดิบสมุนไพร (๑ ชั้น) พื้นที่ใช้สอย ๑๐๘๒ ตารางเมตร ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๒๔,๐๗๕,๐๐๐ บาท
    - อาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่ ๓ ชั้น ๒ หลัง ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท
    - ทางเชื่อมระหว่างอาคาร พื้นที่ใช้สอย ๑๒๕ ตารางเมตร ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท
    - ถนนที่จอดรถเฉพาะที่โครงการ พื้นที่ใช้สอย ๓๔๖๖ ตารางเมตร ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ
๒,๕๘๔,๐๐๐ บาท

     โครงการระยะที่ ๓ สร้างศูนย์แพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นส่วนฟื้นฟูและสุขภาพบำบัด ประกอบด้วย
     - อาคารแพทย์แผนไทย กำหนดรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นอาคารเรือนไทยภาคอีสาน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ถิ่นภูมิปัญญาไทย บริเวณทางเข้าอาคารมีบริเวณพื้นที่จอดรถ รับ-ส่ง ส่วนต้อนรับ การให้การรักษาและการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ จัดให้มีทางเดินเชื่อมไปสู่ทางเข้า ส่วนบริการแพทย์แผนไทย เช่น การนวดไทย การประคบสมุนไพร การอบสมุนไพร เป็นต้น
     - อาคารบริการสุขภาพแพทย์ทางเลือก เป็นพื้นที่รองรับให้บริการทางการแพทย์แผนไทย กำหนดอยู่บริเวณเชื่อมต่อจากศูนย์แพทย์แผนไทย เป็นการสร้างรายได้ให้กับโครงการ เพื่อการพึ่งพาตนเอง ประกอบด้วย เรือนรับรองสุขภาพ (Nursing home) อาคารบ้านพัก-รีสอร์ท อาคารส่วนบริการ บ้านพักเจ้าหน้าที่/คนงาน สระน้ำ สำหรับน้ำใช้ในการ เพาะปลูก และสามารถสร้างบรรยากาศให้สดชื่นได้ด้วยสมุนไพรไม้หอม เป็นต้น
     - ครัวไทยสุขภาพ เป็นพื้นที่บริการ เรื่อง ของอาหารที่ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาไทย เป็นหลัก เช่น อาหารไทย ผลไม้ไทย เครื่องดื่มจากพืชสมุนไพรไทย ที่มีสรรพคุณตามหลักโภชนาการ ใช้เป็นสถานที่สาธิตและแลกเปลี่ยนความรู้ของชุมชนได้อีกด้วย
     - ศูนย์ฝึกนวดไทย เป็นส่วนรองรับบุคคลทั่วไป เพื่อฝึกปฏิบัติการเรียนการสอน การฝึกอบรมทักษะสุขภาพบำบัด เช่น การนวดไทยชนิดต่าง ๆ ด้วยมุ่งหวังการผลิตบุคลากรได้ใช้ความรู้เพื่อประกอบวิชาชีพและพึ่งตนเองได้
     - สวนฤาษีดัดตนและพื้นที่ส่งเสริมสุขภาพ เป็นพื้นที่ที่ต้องการความสงบ จัดให้มีศาลาส่วนแสดงของกิจกรรมพื้นที่ภายในศูนย์แพทย์แผนไทย ในด้าน Meditation ในสถานบริการ จัดพื้นที่สำหรับ การสวดมนต์ ทำสมาธิ วิปัสสนาปฏิบัติธรรมและกายบริหารฤาษีดัดตน มีผลเพื่อการบำบัดรักษาโรค เช่น แก้โรคลมทั่วสรรพางค์กาย แก้เมื่อย แก้ปวด และการฝึกโยคะ หมายถึง การเชื่อมต่อผสมผสานฝึกจิตวิญญาณ จิตใจ ร่างกาย เป็นต้น
     - บำบัดน้ำเสีย พื้นที่วางระบบกระบวนการทำหรือที่ปรับปรุงน้ำเสียให้มีคุณภาพเป็นน้ำทิ้งที่มีคุณภาพมาตรฐานที่กำหนด อยู่ในบริเวณบริการทางการแพทย์แผนไทย โดยคำนึงถึงระบบระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะระบายลงลงสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้งต่อไป
     - บ้านพักเจ้าหน้าที่/คนงาน เฉพาะการแพทย์แผนไทย ที่ต้องเตรียมเครื่องมือ/อุปกรณ์สำหรับให้บริการทางการแพทย์
     - สระน้ำ สำหรับน้ำใช้ในการดูแลรักษางานภูมิทัศน์ และสามารถสร้างบรรยากาศให้สดชื่นได้เป็นอย่างดี

โครงการระยะที่ ๔ สร้างศูนย์การเรียนรู้สวนสมุนไพร ซึ่งประกอบด้วย
     - อาคารพิพิธภัณฑ์และฝึกอบรม กำหนดให้เป็นหน่วยงานอำนวยการของโครงการ เพื่อการจัดการงานบริหาร และส่วนแสดงสื่อการอนุรักษ์ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรพื้นที่ของส่วนต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ ห้องบรรยาย ห้องประชุมและสัมมนา ส่วนบริการ ร้านขายของที่ระลึก เป็นต้น
     - กลุ่มพืชตามอาการโรค พื้นที่สวนสมุนไพรเพื่อการบำบัดรักษา (Healing landscape) รวบรวมพืชสมุนไพร
รวม ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน และไม้เลื้อย จัดการแบ่งกลุ่มตามอาการรักษา ทำให้สะดวกกับผู้เข้าชมและง่ายต่อการจดจำเป็นหมวดหมู่
     - สมุนไพรความงาม แปลงปลูกพืชสมุนไพรอยู่บริเวณส่วนหน้า เป็นกลุ่มพืชที่นำมาใช้และเป็นที่นิยมมาใช้เป็น
เครื่องสำอาง ซึ่งมีหลายชนิดด้านความสวยความงาม บำรุงเส้นผม รักษาผิวพรรณ เช่น มะขาม (Tamarindus indica Linn.) ว่านหางจระเข้ (Aloevera (L.)Burm.f.) แตงกวา (Cucumis sativus Linn) งา (Sesamum indicum L.) เป็นต้น
      - สมุนไพรน้ำมันหอมระเหย เป็นกลุ่มพืชสมุนไพรหลายชนิดที่นำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ซึ่งจะได้กลิ่นที่
แตกต่างกัน เช่น การเวก (Artabotys siamesis Miq) เตยหอม (Pandanus amaryllifolius Roxb.) ดอกมะลิ (Jasminum Sambac (L.) Aiton) ดอกกุหลาบมอญ (Rosa x damascena Mill.) พิกุล (Mimusops elengi L.) แก้ว (Murraya paniculata (L.) Jack.) ไพล มีสรรพคุณ ไล่แมลง รักษาผิวหนังอักเสบ ฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น
      - หมู่บ้านอีสานใต้ กำหนดเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่รวบรวมพื้นที่เขตอีสานใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่อุดมไปด้วยแหล่ง
ของพืช โดยเฉพาะพืชสมุนไพรที่มีคุณค่าทางยา ปรากฏในตำรายาพื้นบ้านอีสานเป็นจำนวนมาก ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ภูมิปัญญาไทย เผยแพร่และฟื้นฟูให้คงอยู่สืบไป จัดให้มีลานบ้านอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยบ้านแต่ละจังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี จัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่กลุ่มบ้านเรือนไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สะท้อนความสัมพันธ์ครอบครัว รวมทั้งแสดงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาของชาวอีสาน เพื่อการศึกษาวิจัย และเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ปลอดภัยต่อประชาชน
โครงการระยะที่ ๕ สร้างส่วนบริการ ประกอบด้วย พื้นที่บริการอื่น ๆ เช่น บ้านพักสำหรับการบำบัดรักษา (Nursing Home) พื้นที่จอดรถ (สำรอง) ลานอเนกประสงค์ ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย ป้อมยาม พื้นที่จอดรถบัส ที่จอดรถ ลานน้ำพุ ลานจัดกิจกรรมกลางแจ้งและลานอเนกประสงค์ สระน้ำ บ่อบำบัดน้ำชีวภาพ ๑ บ่อบำบัดน้ำชีวภาพ ๒ บ่อบำบัดน้ำชีวภาพ ๓ อาคารซ่อมบำรุง บริเวณกำจัดขยะ

๘. แผนเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย
         ๘.๑ จัดทำผังแม่บท (Master plan) โดยการวางผังโครงการ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๕ โซน ดังนี้ :-
          
                         ผังแม่บท (Master plan)

       โครงการระยะที่ ๑ (Zone A) พื้นที่ประมาณ ๑๒๑,๒๘๔ ตารางเมตร ประกอบด้วย ทางเข้าโครงการ อาคารพิพิธภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ อาคารวิจัยและพัฒนาสมุนไพร อาคารพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพร อาคารเตรียมวัตถุดิบสมุนไพร บริเวณที่จอดรถ อาคารหมู่เรือนไทย (แพทย์แผนไทยเพื่อการบำบัดรักษา) อาคารบริการและบ้านพัก ระบบสาธารณูปโภค ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๑๖๙,๗๘๐,๐๐๐ ล้านบาท
       โครงการระยะที่ ๒ (Zone B) พื้นที่ประมาณ ๓๒,๖๒๘ ตารางเมตร ประกอบด้วย ศูนย์การเรียนรู้ สวนสมุนไพรสาธิต ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๔๔,๙๔๐,๐๐๐ ล้านบาท
       โครงการระยะที่ ๓ (Zone C) พื้นที่ประมาณ ๑๖๓,๖๘๔ ตารางเมตร ประกอบด้วย ส่วนบริการแพทย์ทางเลือก (ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) ลานวงเวียนน้ำพุ ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๒๒๙,๗๐๐,๐๐๐ ล้านบาท

       โครงการระยะที่ ๔ (Zone D) พื้นที่ประมาณ ๘๒,๐๖๔ ตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรมสมุนไพรและแปลงสาธิต หมู่บ้านอีสานใต้ (พืชสมุนไพรพื้นบ้าน) ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๑๒๙,๘๓๐,๐๐๐ ล้านบาท
    โครงการระยะที่ ๕ (Zone E) พื้นที่ประมาณ ๘๓,๖๓๘ ตารางเมตร ประกอบด้วย ส่วนวิจัยและแปรรูป และพื้นที่บริการ เช่น อาคารซ่อมบำรุง บ่อบำบัดน้ำชีวภาพ บริเวณกำจัดขยะ เรือนเพาะชำ/ปุ๋ย ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๑๑๖,๘๔๐,๐๐๐ ล้านบาท

       ๘.๒ จัดทำงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที เมื่อได้รับงบประมาณ โดยการจัดทำแผนการงบประมาณโครงการ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ โซน ดังนี้:-
       โครงการระยะที่ ๑ (Zone A) ประกอบด้วย ทางเข้าโครงการ อาคารพิพิธภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ อาคารวิจัยและพัฒนาสมุนไพร อาคารพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพร อาคารเตรียมวัตถุดิบสมุนไพร บริเวณที่จอดรถ อาคารหมู่เรือนไทย (แพทย์แผนไทยเพื่อการบำบัดรักษา) อาคารบริการและบ้านพัก ระบบสาธารณูปโภค ระยะเวลาโครงการ ๑-๓ ปี ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๑๖๙,๗๘๐,๐๐๐ ล้านบาท
      โครงการระยะที่ ๒ ประกอบด้วย (Zone B) ศูนย์การเรียนรู้ สวนสมุนไพรสาธิต ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๔๔,๙๔๐,๐๐๐ ล้านบาท และ (Zone C) ส่วนบริการแพทย์ทางเลือก (ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) ลานวงเวียนน้ำพุ ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๒๒๙,๗๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ ๑ ปี รวมงบประมาณดำเนินการประมาณ ๒๗๔,๖๔๐,๐๐๐ ล้านบาท
      โครงการระยะที่ ๓ (Zone D) ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรมสมุนไพรและแปลงสาธิต หมู่บ้านอีสานใต้ (พืชสมุนไพรพื้นบ้าน) ระยะเวลาโครงการ ๑ ปี ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๑๒๙,๘๓๐,๐๐๐ ล้านบาท
      โครงการระยะที่ ๔ (Zone E) ประกอบด้วย ส่วนวิจัยและแปรรูป และพื้นที่บริการ เช่น อาคารซ่อมบำรุง บ่อบำบัดน้ำชีวภาพ บริเวณกำจัดขยะ เรือนเพาะชำ/ปุ๋ย ระยะเวลาโครงการ ๑ ปี ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ ๑๑๖,๘๔๐,๐๐๐ ล้านบาท

             ใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น ๖๙๑,๐๙๐,๐๐๐ บาท

     ๘.๓ ดำเนินการจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนายารักษาโรคจากสมุนไพร ซึ่งเป็นโครงการวิจัยหลัก โดยมีวัตถุ
ประสงค์ เพื่อที่จะนำเอาสมุนไพรที่มีประวัติศาสตร์ในการรักษาโรคตามตำรายาแพทย์แผนไทย ตามคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา และสมุนไพรที่ชาวบ้านนิยมใช้รักษาโรคมาทำการศึกษาวิเคราะห์หาสาระสำคัญที่ออกฤทธิ์ ตลอดจนพิษของสมุนไพรที่ควรระวังตามขบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างครบวงจร เพื่อพิสูจน์ว่าสมุนไพรดังกล่าวนั้น มีศักยภาพในการรักษาโรคได้จริงหรือไม่ และมีความปลอดภัยในการใช้ต่อประชาชนเพียงใด ถ้าสมุนไพรดังกล่าวมีศักยภาพเพียงพอต่อการรักษาโรคได้จริง ก็จะนำมาพัฒนาเป็นยารักษาในผู้ป่วยต่อไป

              ๘.๔ ดำเนินการจัดสร้างศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขึ้น ณ วัดยานนาวา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับโครงการวิจัย โดยนำยาที่พัฒนาและผลิตได้มาใช้ในการรักโรคในผู้ป่วย ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์เวชกรรมไทย เมื่อการพัฒนาแปรรูปประสบความสำเร็จ จะดำเนินการขยายศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกไปต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ วัดนวมินทรราชูทิศเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี นครบอสตัน
รัฐแมสซาซูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และวัดนวมินทรราชูทิศ เฉลิมพระเกียรติฯ เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส

 

 ๙. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
     ๙.๑ เป็นสถานที่ตัวอย่างด้านการเกษตรพอเพียงตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
     ๙.๒ เป็นสถานที่รวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์สมุนไพรไทย สมุนไพรไทยที่หายาก และสมุนไพรไทยที่มีประวัติรักษา ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งของประเทศไว้ เพื่อเป็นมาตรฐานในการศึกษาวิจัย
     ๙.๓ เป็นสถานที่รวมวัตถุดิบทางยาสำหรับไว้ใช้ในการวิจัยและพัฒนาสมุนไพร ซึ่งจะได้สมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐาน และมีปริมาณที่เพียงพอต่อการวิจัย
     ๙.๔ เป็นสถานที่ศึกษาวิจัยและพัฒนาสมุนไพรแห่งชาติที่สามารถแปรรูปสมุนไพรให้เป็นยา เพื่อใช้ในการบำบัดและรักษาผู้ป่วยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
     ๙.๕ เป็นสถานที่เผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการทั้งในด้านประโยชน์และโทษที่ควรระวังของสมุนไพร ตลอดจนให้คำแนะนำการใช้สมุนไพรให้ถูกต้อง และปลอดภัยแก่ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป
     ๙.๖ ช่วยในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และช่วยรักษาสมดุลให้กับธรรมชาติ

 


.....................................................

 




สมัครรับข่าวสาร สุขภาพกับโรงพยาบาล มหาวชิราลงกรณ update กิจกรรมดีๆ เกี่ยวกับสุขภาพมากมาย
อีเมล:
รับข่าวสาร
ยกเลิก

Valid XHTML 1.0 Transitional

มูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ
1648 อาคารมหาเจษฎาบดินทร์ วัดยานนาวา ถ.เจริญกรุง ข.สาธร กทม. 10120
โทร.0-2673-9940-3 ,โทรสาร.0-2673-9941, อีเมล์:info50amfh.org@gmail.com
© All rights reserved. Floral Design. 2009
จำนวนผู้เข้าชม